วันอังคารที่ 26 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ทฤษฎีที่มาของความกล้า

(นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของความคิดเห็นที่ยังไม่ถูกพิสูจน์โดยการทดลอง การตั้งชื่อหัวข้อว่า 'ทฤษฎี' นั้นอาจยังไม่ถูกต้องมากนัก หากมีอะไรผิดพลาด หรือทำให้ไม่ถูกใจ จึงต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย)
'กล้าหาญ' คำนี้มีความหมายแปรผันไปตามเหตุการณ์ที่ถูกใช้

ถ้าคุณทำอะไรบางอย่าง ที่คนอื่นไม่คิดจะเสี่ยงลงมือทำ คุณอาจจะเป็นคน 'กล้าหาญ'
ถ้าคุณทำอะไรบางอย่าง ที่ไม่มีใครเริ่มทำ คุณอาจจะเป็นคน 'กล้าหาญ'
และบางที ถ้าคุณทำอะไรบางอย่าง ที่คนอื่นไม่ทำกัน คุณก็อาจจะเป็นคน 'กล้าหาญ'

จะเห็นได้ว่าคำว่า 'กล้าหาญ' บางทีก็ไม่ได้ถูกใช้อธิบายความดีของคนๆ หนึ่ง อย่างเช่นประโยคสุดท้ายที่ผมได้ยกตัวอย่างไป ถ้าอ่านดูดีๆ จะพบว่าคำว่า 'กล้าหาญ' ในประโยคนั้นกลับทำหน้าที่แทนคำว่า 'หน้าด้าน' ที่น่าสงสัยนั้นไม่ใช่ความเหมาะสมของการใช้คำว่า 'กล้าหาญ' ไม่ใช่ความยืดหยุ่นของความหมายของคำๆ นี้ แต่ประเด็นที่น่าสงสัยคือพฤติกรรมที่แสดงออกมาของคนที่ถูกเรียกว่า 'กล้าหาญ' หากยังไม่เข้าใจ ลองอ่านทบทวนสามประโยคด้านบนอีกสักรอบ แล้ววิเคราะห์ดูใหม่ ถึงแม้ว่าความหมายของคำว่า 'กล้าหาญ' ในแต่ละประโยคดังกล่าวจะไม่เหมือนกันตามที่ได้บอกไปแล้วนั้น แต่จะเห็นว่าพฤติกรรมของคนที่ถูกเรียกว่า 'กล้าหาญ' ในทุกประโยคนั้นมีความคล้ายคลึงกัน ทุกคนล้วน
ทำในสิ่งที่ไม่มีคนทำ
และสิ่งที่น่าสงสัยต่อไปอีกซึ่งทำให้เกิดเรื่องราวตอนต่อไปที่ผมจะพูดถึงคือ 'แล้วทำไมคนเหล่านี้ถึงได้แสดงพฤติกรรมดังกล่าวออกมา'

ก่อนอื่นขอให้ผู้อ่านลองเชื่อแบบผมดูก่อน ว่า 'คนเราไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามแต่ หากเป็นสิ่งที่ผู้กระทำ ตั้งใจทำ ไม่ว่าจะโดยสมัครใจหรือไม่สมัครใจก็ตาม ย่อมได้ประโยชน์จากการกระทำนั้นๆ เสมอ' หลายคนอ่านแล้วคงตะหงิดใจว่าแล้วคนที่ 'เสียสละ' หละ สำหรับคนที่ขัดใจ ให้ลองมองอย่างนี้ดูว่า เวลาเราถามใครสักคนหนึ่งว่าทำสิ่งๆ หนึ่งไปทำไม คนๆ นั้นจะมีคำตอบให้เสมอ ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม อย่างไปถามคนที่ 'เสียสละ' เพื่อชาติที่รักว่าทำไปทำไม เขาก็อาจจะตอบมาว่า 'ความสุข' นั่นแหละครับ คือประโยชน์ที่เขาได้รับคือ เขามีความสุข
(หมายเหตุ: แต่เหตุการณ์หนึ่งที่จะทำให้สิ่งที่ผมเชื่อนั้นอธิบายไม่ได้ก็คือ คำถามที่ได้คำตอบว่า 'ไม่รู้')

และที่อยากขอให้เชื่ออีกเรื่องหนึ่งคือ เรื่องของคนที่ยอมสละชีวิตตัวเอง ไม่สนว่าชีวิตตัวเองจะเป็นอย่างไร อันนี้ผมขอให้อนุมานว่าเป็นภาวะโรคจิตอย่างหนึ่งก็แล้วกันครับ เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วคนที่ยอมสละชีวิตตัวเอง มักจะคิดว่าชีวิตของตนเองนั้นด้อยค่ากว่าของผู้อื่น หรือไม่มีค่าเลย ซึ่งผมเชื่อว่าเป็นภาวะซึมเศร้าอย่างหนึ่ง
(หมายเหตุ: สำหรับการเสียสละเพื่อความรักนั้น อาจไม่จัดว่าเป็นภาวะทางจิตก็ได้ แต่ก็ถือว่าผู้ที่กระทำได้ประโยชน์อยู่ดี)

หลังจากที่พยายามทำใจเชื่อนิดๆ ในสิ่งที่ผมได้กล่าวไปแล้ว ก็จะพบว่าคนที่ทำตามเงื่อนไขที่ผมได้กล่าวไปแล้ว ไม่ว่าจะทำอะไรก็จะได้ประโยชน์เสมอ และพฤติกรรมกล้าหาญของบุคคลๆหนึ่งนั้น ย่อมเกิดจากความไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน จึงเป็นสิ่งที่ตั้งใจทำ ถ้าผู้อ่านเชื่อในสิ่งที่ผมได้บอกไปแล้วนั้น จะตอบได้เลยว่า ดังนั้นคนที่แสดงพฤติกรรมกล้าหาญ ก็ต้องได้ประโยชน์จากสิ่งที่ได้กระทำลงไปอย่างแน่นอน แล้วประโยชน์ที่ว่านั้นคืออะไรหละ?

ถ้าคิดง่ายๆ ก็คงเป็นสิ่งที่จะตามมาในภายหลัง ตัวอย่างเช่น ชื่อเสียง เงินทอง อำนาจ กิเลศต่างๆ นาๆ แต่ถ้าเป็นในกรณีที่มันไม่มีอะไรจะเสียแล้วหละ? ความกล้ามาจากไหน สิ่งที่ผมขอให้เชื่อสามารถอธิบายได้ครับ ว่าเหตุใดในกรณีที่ไม่เหลืออะไรให้เสีย ไม่มีอะไรให้ได้ แล้วความกล้ามาจากไหน

ผมพูดไปแล้วว่าพฤติกรรมกล้าหาญนั้นเกิดจากความตั้งใจของผู้กระทำ มีการคิดไตร่ตรองก่อนที่จะลงมือทำ ดังนั้นลองจินตนาการถึงความคิดของบุคคลที่แสดงพฤติกรรมกล้าหาญตอนที่บุคคลนั้นกำลังไตร่ตรองดูครับ สิ่งที่ควรจะเป็นความคิดของบุคคลนั้นๆ ก็คือ 'จะทำ หรือไม่ทำ' 'ทำแล้วจะทำได้ไหม' อะไรประมาณนี้ แต่ว่าสิ่งที่เราจะพิจารณาจริงๆ นั้นคือพฤติกรรมที่ได้แสดงออกไปแล้ว คือช่วงของตอนที่บุคคลนั้นๆ ได้กระทำในสิ่งที่ตัดสินใจไปแล้ว เพราะฉะนั้นแสดงว่าบุคคลดังกล่าวย่อมตัดสินใจว่า 'จะทำ' และ ต้องเชื่อมั่นว่า 'ทำแล้วต้องได้' ซึ่งการที่เชื่อว่า 'ทำแล้วต้องได้' 'ทำแล้วต้องสำเร็จ' นั้นก็คือประโยชน์อย่างหนึ่งที่ผู้แสดงพฤติกรรมกล้าหาญดังกล่าวจะได้รับนั่นเอง

จากที่กล่าวมายืดยาวหลายคนอาจจะงง ว่าผมเขียนเรื่องนี้ทำไม ไม่เห็นจะรู้เรื่องเลยว่าต้องการจะสื่ออะไรออกมา แต่ทั้งหมดนั่นก็คือความคิดของผม ซึ่งยังคงมีอีกหลายๆ อย่างที่ความคิดของผมยังคงอธิบายไม่ได้ ยกตัวอย่างเช่น ความขัดแย้งบางประการที่เกิดจากการแสดงพฤติกรรมกล้าหาญออกไปโดยไม่มีความมั่นใจว่าตัวเองจะทำได้

แต่โดยสรุปแล้วจริงๆ ผมจะสื่อว่า 'ไม่มีความกล้าหาญใดๆ ที่เป็นการเสียสละโดยแท้จริง'

จบคำชี้แจง!

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ยกเว้นกรณีที่ ทำมั่วแล้ว ฟลุคได้สินะ

NuMSaii :) กล่าวว่า...

เขียนวิเคราะห์มากอ้ะ !

แสดงความคิดเห็น

 
 
Theme by Diovo.com (Edited by Zenn)